อธิบายประวัติศาสตร์และความหมายลึกซึ้งเบื้องหลังหนัง “Black Panther”

บทความนี้มี สปอยเลอร์ สำหรับหนัง Black Panther!


หนึ่งในเงื่อนไขที่ผู้กำกับ Ryan Coogler (ผู้กำกับหนังเรื่อง Fruitvale Station และ Creed) ยื่นต่อ Marvel ก่อนรับงานกำกับหนังซูเปอร์ฮีโร่ Black Panther คือ ทางสตูดิโอต้องส่งเขาและภรรยาไปยังทวีปแอฟริกาเพราะเขาไม่สามารถเขียนและถ่ายทำหนังเกี่ยวกับกษัตริย์แอฟริกันได้หากเขาไม่เคยไปเยี่ยมเยียน “มาตุภูมิ” (the “Motherland”)  Marvel ตอบตกลง และอีกไม่นานหลังจากนั้น ผู้กำกับหนุ่มจากเมือง Oakland รัฐ California ก็ขึ้นเครื่องบินมุ่งหน้าไปยังประเทศแอฟริกาใต้เป็นครั้งแรกในชีวิต… สำหรับ Ryan Coogler หนัง Black Panther ไม่ใช่เป็นเพียงแค่หนังซูเปอร์ฮีโร่สนุกๆเรื่องหนึ่งเท่านั้น หนังเรื่องนี้เป็นหนังสตูดิโอ Hollywood ใหญ่เรื่องแรกที่ทั้งผู้กำกับ ผู้เขียนบท นักแสดงและผู้ทำงานเบื้องหลังส่วนใหญ่เป็นคนผิวดำ หนังเรื่องนี้ คือ Ryan Coogler พยายามหาคำตอบต่อคำถามที่เขามีมาทั้งชีวิต… “มันหมายถึงอะไรที่จะเป็นชาวแอฟริกัน?” (“What does it mean to be African?”)

ใช่…หนังเรื่องนี้มีฉากแอ้กชั่น มีมุขตลก มีพลังพิเศษ มีตัวละคร Marvel แต่สิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้เป็น “ปรากฎการณ์ทางสังคม” (“cultural phenomenon”) คือ ความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในโลกจริงๆของเราที่ Ryan Coogler และทีมงานของเขาใส่เข้าไปในเกือบทุกช้อตและทุกคำพูดในหนัง

ความหมายของประเทศ Wakanda

Wakanda เป็นประเทศแอฟริกาที่เราไม่เคยเห็นบ่อยครั้งนักในหนัง Hollywood ทวีปแอฟริกามักถูกถ่ายทอดผ่านมุมมองของตัวละครผิวขาวว่าเป็นทวีปที่ยากจน ป่าเถื่อน ล้าหลัง หรือเต็มไปด้วยอันตราย (เช่น หนังเรื่อง Blood Diamond, Tarzan, The Last King of Scotland ฯลฯ) ตลอดหลายร้อยปีในประวัติศาสตร์ ทวีปแอฟริกาถูกใช้เป็นแหล่งทรัพยากรที่คนผิวขาวทำลายและเอาเปรียบ ทั้งทรัพยากรคนงาน ทาส แร่ธาตุ ฯลฯ แต่ในโลก Marvel ประเทศ Wakanda เก็บรักษาวัฒนธรรมและทรัพยากรหลัก (ไวเบรเนียม) ของตนไว้ได้ ​ที่สำคัญที่สุด Wakanda เป็นประเทศในทวีปแอฟริกาที่ไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของคนผิวขาวจากตะวันตกและเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดในโลก

Chadwick Boseman ผู้รับบทเป็นกษัตริย์ T’Challa ต้องการแสดงให้เห็นถึงความเจิญรุ่งเรืองของแอฟริกาผ่านสำเนียงของตัวละครในหนัง  Chadwick ผลักดันให้ตัวละครของตนมีสำเนียงแอฟริกัน “เพราะ Wakanda เป็นประเทศที่ไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของใคร T’Challa จึงไม่จำเป็นต้องไปรับการศึกษาที่ Oxford Cambridge หรือ Yale T’Challa จะได้รับการศึกษาจากที่บ้าน เขาจำเป็นต้องพูดเป็นสำเนียงแอฟริกันกับคนของเขา หากผมให้เขามีสำเนียงยุโรป ผมกำลังสนับสนุนความเชื่อผิดๆของพวกคนที่เชื่อว่า ‘คนผิวขาวเป็นใหญ่’ (white supremacy) ความเชื่อที่ว่าบุคคลที่มีสำเนียงอังกฤษหรือสำเนียงอเมริกันเท่านั้น ที่มีการศึกษาหรือมีความเป็นผู้นำ”

Wakanda ที่ Ryan Coogler สร้างขึ้นทั้งในและนอกจอเป็น Wakanda แบบ “แพน-แอฟริกัน” (Pan-African) “แพน-แอฟริกัน” คือ movement ที่สนับสนุนพันธมิตรระหว่างชาวแอฟริกันทุกเชื้อชาติ  หนัง Black Panther สะท้อน movement นี้ด้วยการเลือกนักแสดงผิวสีจากหลายเชื้อชาติ  Chadwick Boseman (T’Challa), Angela Bassett (ราชินี Ramonda) และ Forest Whitaker (Zuri) มาจากประเทศอเมริกา  Danai Gurira (แม่ทัพ Okoye) เป็นชาวเอมริกัน-ซิมบับเว  Lupita N’yongo (Nakia) เป็นชาวเคนยา  ส่วน Daniel Kaluuya (W’kabi) และ Letita Wright (เจ้าหญิง Shuri) มีเชื้อสายยูกันดาและกายอาน่า แต่มาจากประเทศอังกฤษ  Ryan Coogler เองได้อธิบายว่า ตนได้ใส่องค์ประกอบของ “แพน-แอฟริกัน” อย่างชัดเจนเข้าไปในฉากต่อสู้ในคาสิโนที่เมือง Busan ผ่านสีเสื้อผ้าของ Okoye (แดง) T’Challa (ดำ) และ Nakia (เขียว) ซึ่งเป็นสีธงของ “แพน-แอฟริกัน”

“ยูโทเปีย” (Utopia) คือ คำที่นักแสดงหลายคนและผู้กำกับใช้เพื่ออธิบายประเทศ Wakanda หนัง Black Panther แสดงให้เราเห็นถึง “ความฝัน” หรือ “ศักยภาพ” ของประเทศในทวีปแอฟริกาที่สามารถพัฒนาได้ด้วยตนเองหากไม่เคยมีการกดขี่ขมเหงและควบคุมจากคนผิวขาวผู้ล่าอณานิคม

ผู้หญิงของ Wakanda

หนัง Black Panther มีตัวละครผู้หญิงหลักๆถึงสี่คน คือ Nakia (อดีตคู่รักของ T’Challa และสายลับของ Wakanda) Okoye (แม่ทัพของหน่วยองครักษณ์ Dora Milaje และนักรบที่เก่งที่สุดในประเทศรองจาก T’Challa) Shuri (น้องสาวของ T’Challa และนักวิทยศาสตร์จอมอัจฉริยะ) และพระราชีนี Ramonda (แม่ของ T’Challa และ Shuri) ผู้หญิงทั้งสี่คนนี้มี “รูปลักษณ์” ที่สังคมและหนัง Hollywood มักไม่เห็นว่าสวยงาม เช่น ผิวสีดำเข้มและผมหยิกธรรมชาติ  (จำโฆษณาครีมผิวขาวของคริส หอวังกันได้มั้ย?) Okoye ถึงขนาดกระชากวิกออกจากหัวและใช้เป็นอาวุธ! ผู้หญิงทั้งสี่คนนี้ “สตรอง” และไม่ต้องการความช่วยเหลือจากผู้ชาย ถึงขนาดที่ผู้หญิงพวกนี้ช่วยปกป้องผู้ชายด้วยซ้ำ! แถมพวกเธอยังช่วยปกป้องประเทศ Wakanda ด้วย! ตอนท้ายเรื่อง สงครามหยุดลงเมื่อ ​W’kabi ยอมคุกเข่าลงต่อหน้า Okoye  เหมือนที่ Nakia พูด…​“ฉันจะช่วยกู้ประเทศของฉัน” / I save my country  ดังนั้น ผู้หญิงของ Wakanda ไม่ใช่เป็นแค่ตัวละคร “สนับสนุน” เฉยๆ พวกเธอเป็นถึงผู้ผลักดันและผู้สร้างความแตกต่างในเนื้อเรื่อง

นอกจากนั้น ผู้หญิงทั้งสี่คนใน Black Panther มีบุคลลิกและอุดมการณ์ที่ไม่เหมือนกัน  Nakia ต้องการให้ Wakanda หยุดซ่อนตัวจากโลกภายนอกและช่วยเหลือผู้ยากไร้จากประเทศอื่นๆ ในขณะที่ Okoye ให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยของประเทศและกษัตริย์เป็นหลัก หนึ่งในบทสนทนาที่สำคัญที่สุดในหนัง คือ ระหว่าง Nakia และ Okoye หลังจาก Killmonger “ฆ่า” T’Challa  Nakia เป็นสายลับที่ไม่ทำตามระเบียบกฎเกณฑ์ เธอวางแผนจะโค่นล้ม Killmonger ในขณะที่ Okoye ยืนยันว่าเธอจำเป็นต้องจงรักภักดีต่อบัลลังก์ไม่ว่าใครจะนั่งอยู่บนนั้น ในหนังที่มีตัวละครผู้หญิงหลักเพียงคนเดียว ตัวละครผู้หญิงคนนั้นมักจะได้รับภาระเป็น “ตัวแทน” ของผู้หญิงทุกคน แต่ในหนังอย่าง Black Panther ที่มีผู้หญิง “สตรอง” มากกว่าหนึ่งคน ผู้หญิงเหล่านี้สามารถเป็นเพียงแค่ “มนุษย์” คนหนึ่งได้ สามารถมีความคิดของตนเอง มีความอ่อนไหว มีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนเหมือนผู้หญิงที่เรารู้จักในชีวิตจริง

Wakanda เป็นประเทศ “ยูโทเปีย” ที่ผู้หญิงเท่าเทียมกับผู้ชาย หลายครั้งเรามักคิดว่าผู้ชายที่ “ดี” คือ ผู้ชายที่ปกป้องผู้หญิงเท่านั้น แต่หนึ่งในคุณลักษณะที่น่าชื่นชมของ T’Challa คือ การที่เขาเห็นคุณค่าและยกชูผู้หญิงในชีวิตของเขา  T’Challa รู้ว่าเขาไม่สามารถเป็นกษัตริย์ที่ดีได้หากเขาไม่มีพวกเธออยู่เคียงข้าง เขารับฟังและไว้ใจความคิดเห็นของผู้หญิงทุกคน และเขาให้อิสรภาพพวกเธอที่จะเป็นตัวของตัวเอง  เขาไม่เคยบังคับให้ Nakia คิดเห็นตรงกับเขาในเรื่องการเมืองของประเทศ และ Nakia เองก็ไม่เคยต้องละทิ้งความเชื่อของตนเอง  สุดท้าย ทั้งสองคนคืนดีกันเพราะ T’Challa ต่างหาก ที่เห็นว่าความคิดของ Nakia ที่จะช่วยเหลือประเทศอื่นๆ เป็นความคิดที่ “ถูกต้อง”  Wakanda แสดงให้เห็นว่า สังคมที่เท่าเทียมกันจริงๆ ไม่ใช่สังคมที่ผู้ชายจะรู้สึกถูกคุกคามจากความสามารถของผู้หญิง แต่เป็นสังคมที่ทั้งผู้หญิงและผู้ชายสนับสนุนกันและกันเพื่อที่ทุกคนจะแสดงศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่

ประวัติศาสตร์และความเจ็บปวดเบื้องหลัง “วายร้าย” Killmonger

“วิถีชีวิตในแถบนี้”: เมือง Oakland

หนึ่งในฉากที่กระชากอารมณ์มากที่สุดในหนัง คือ ฉากระหว่าง Erik Killmonger และพ่อของเขา หลังจาก Erik Killmonger แย่งบัลลังก์จาก T’Challa เขากลับไปพบพ่อของเขาในอพาร์ทเม้นท์เมนท์ที่เมือง Oakland เจ้าชาย N’Jobu ถามลูกชายของเขาว่า “ไม่มีน้ำตาให้พ่อหรือ” (“No tears for me?”) Killmonger ในร่างเด็กตอบว่า “Everybody dies. It’s just life around here.” แต่ซับไตเติ้ลไทยกลับแปลผิดว่า “ทุกคนต้องตาย มันคือสัจธรรมชีวิต”  หลายคนอาจบอกว่า…แปลผิดแค่นิ๊ดดดเดียวอย่างนี้จะมีความแตกต่างอะไร? แต่ถ้าเราเข้าใจตัวละคร Killmonger และสภาพแวดล้อมของเขาอย่างลึกซึ้ง เราจะเข้าใจว่า แปลผิดแค่นิ๊ดเดียวอย่างนี้…สามารถเปลี่ยนความหมายของตัวละครได้ทั้งหมด จุดสำคัญของคำพูดของ Killmonger ไม่ใช่ “ทุกคนต้องตาย” แต่คือ “it’s just life around here” / “ทุกคนต้องตาย…นี่คือวิถีชีวิตในแถบนี้”  ขอเน้น… “วิถีชีวิตในแถบนี้  แถบนี้ คือ เมือง Oakland ที่ Killmonger อยู่…คือสังคมของชาวแอฟริกัน-อเมริกันในย่าน “inner city” ที่ถูกกดขี่ข่มเหงผ่านการเหยียดสีผิว ผ่านความยากจน ผ่านความรุนแรงของตำรวจ ผ่านยาเสพย์ติด ฯลฯ มาหลายยุคหลายสมัย

การที่ Ryan Coogler เลือกที่จะเริ่มต้นและจบหนัง Black Panther ที่เมือง Oakland เป็นหนึ่งใน “สัญลักษณ์” ที่สำคัญที่สุดของหนัง

View of a line of Black Panther Party members as they stand outside the New York City courthouse under a portion of an Abraham Lincoln quote which reads ‘The Ultimate Justice of the People,’ New York, New York, April 11, 1969. (Photo by David Fenton/Getty Images)

  • หนังเรื่องแรกของ Ryan Coogler ชื่อ Fruitvale Station ก็เกิดขึ้นที่เมือง Oakland และเป็นเรื่องจริงของชายหนุ่มแอฟริกัน-อเมริกันชื่อ Oscar Grant ผู้ถูกตำรวจผิวขาวยิงเสียชีวิตเมื่อปี 2009  การฆาตรกรรมของ Oscar เป็นกรณีที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในอเมริกามานานกว่าหลายสิบปี ถึงขนาดที่ผู้คนต้องก่อตั้ง movement ชื่อว่า Black Lives Matter ในปี 2013 เพื่อประท้วงและพยายามแก้ไขความเหยียดผิวในระบบของประเทศ ผลวิจัยในไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้แสดงให้เห็นว่า ชาวแอฟริกัน-อเมริกันมีโอกาสถูกตำรวจยิงเสียชีวิตมากกว่าคนผิวสีอื่นถึงสามเท่า
  • หนัง Black Panther เริ่มต้นในปี 1992 ซึ่งเป็นช่วงเหตุการณ์จลาจลในเมือง LA (LA riots) การจลาจลนี้เริ่มขึ้นหลังจากตำรวจ LAPD ผิวขาวสี่คนหลุดคดีรุมซ้อมทำร้ายร่างกายชายแอฟริกัน-อเมริกันชื่อ Rodney King  ในฉากแรกของหนัง เราสามารถเห็นข่าวเกี่ยวกับการจลาจลในทีวีในอพาร์ทเม้นท์ของ N’Jobu ประมาณเสี้ยวนาทีนึง

บุคคลจริงๆ เบื้องหลัง Killmonger

นักแสดง Michael B. Jordan เตรียมตัวรับบท Killmonger ด้วยการศึกษานักปฎิวัติแอฟริกัน-อเมริกันหลายคนในประวัติศาสตร์ เช่น Malcolm X, Huey P. Newton (ผู้ก่อตั้งพรรค Black Panther), Fred Hampton (สมาชิกพรรค Black Panther) และ Marcus Garvey (หนึ่งในผู้นำกระแส “แพน-แอฟริกัน” ในอเมริกา) นอกจากนั้น ถ้าตั้งใจมองดีๆ เราจะเห็นโปสเตอร์กลุ่มฮิปฮอป Public Enemy ในฉากอพาร์ทเม้นท์ที่ Oakland ด้วย ซึ่งเพลง “Fight the Power” ของพวกเขาเป็นเพลงที่สำคัญอย่างยิ่งในการประท้วงเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของชาวแอฟริกัน-อเมริกันในยุค 90s

อีกหนึ่งแรงบันดาลใจเบื้องหลัง Killmonger คือ แรปเปอร์ Tupac Shakur ที่ Michael B. Jordan ฟังระหว่างเล่นบท Killmonger  ใน Podcast ของนิตยาสาร Empire Ryan Coogler ยืนยันว่า เขาต้องการนำ “ความรู้สึก” ของ Tupac เข้ามาในหนัง  Tupac เป็นแรปเปอร์ชื่อดังผู้มีบุคลิกภาพที่ซับซ้อน แต่มีอิทธิพลอย่างมากต่อชาวแอฟริกัน-อเมริกัน  ก่อนที่ Tupac จะเสียชิวิตในปี 1996 เขามักแสดงบุคลิกที่ขัดแย้งกันให้แก่สาธารณะชนผ่านคำพูดและบทเพลงของเขา ด้านหนึ่งของ Tupac คือ ด้าน “นักเลง” ที่รุนแรงและเต็มไปด้วยความโกรธแค้น อีกด้านหนึ่ง คือ ด้านของ “นักปฎิวัติ” ที่ต้องการพัฒนาสิทธิเสรีภาพของคนผิวดำ  Tupac เติบโตขึ้นในครอบครัวที่เป็นสมาชิกพรรค Black Panther  เขาเคยใช้ชีวิตอยู่ในเมือง Oakland เหมือน Killmonger และเติบโตท่ามกลางความยากจนและการถูกกดขี่ข่มเหงเหมือน Killmonger  ความแตกต่างที่ใหญ่หลวงที่สุดระหว่าง Tupac และ Killmonger คือ ความ “สุดขีด” ของ Killmonger ที่ต้องการยึดครองทั้งโลก เริ่มต้นอณาจักร Wakanda (คำพูดของเขาที่ว่า “The sun will never set on the Wakandan Empire” สะท้อนถึงจักรวรรดิบริติช หรือ British Empire ในอดีตที่ว่า “The sun never set on the British Empire”) และตั้งตนเองเป็นผู้นำแบบทรราช

เด็กกำพร้าผู้หลงหาย: The Lost Child

Ryan Coogler เรียก Black Panther ว่าเป็นหนังที่ “personal” ที่สุดของเขา เพราะเป็นหนังที่เขาสามารถใช้เสาะหาตัวตนของเขาเองได้ โดยเฉพาะผ่านตัวละคร Killmonger  Killmonger เป็นชาว Wakanda แต่เขาไม่เคยเห็นประเทศของตนเองเลย เขาเกิดและเติบโตมาในประเทศอเมริกา…ในประเทศที่เขารู้สึกว่าตนไม่เป็นที่ต้องการ  Ryan Coogler เองรู้สึกมาตลอดว่า ส่วนหนึ่งของตัวตนของเขาขาดหายไป เพราะชาวแอฟริกัน-อเมริกันถูกตัดขาดจากทวีปแอฟริกาตั้งแต่สมัยที่พวกเขาถูกจับมาเป็นทาส  เจ้าชาย N’Jobu บอก Killmonger ว่า ชาว Wakanda จะเรียกเขาว่า “เด็กผู้หลงหาย” (“They will say you are lost.”) นี่เป็นคำพูดจริงๆ ที่ Ryan Coogler ได้ยินคนแอฟริกันเรียกชาวแอฟริกัน-อเมริกัน  Killmonger พยายามขวนขวายหาสายใยนั้นด้วยการสักตัวตามธรรมเนียมแอฟริกันและด้วยการเดินทางกลับมายัง Wakanda แต่ไม่ว่าเขาจะพยายามซักเท่าไหร่ เขาก็ไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของ Wakanda ได้อย่างแท้จริง ในวาระสุดท้ายของ Killmonger เขาเอ่ยถึง “บรรพบุรุษ” ของเขา แต่คนที่เขาถือว่าเป็นบรรพบุรุษกลับไม่ใช่ชาว Wakanda แต่กลับเป็นชาวแอฟริกาที่โดนจับเป็นทาส…ชาวแอฟริกันที่โดดลงจากเรือเพราะพวกเขารู้ว่า “ความตายดีกว่าการใช้ชีวิตอยู่ในพันธนาการ”

ในฉากที่ Killmonger กลับไปพบพ่อของเขา เราเห็น Killmonger สลับไปสลับมาระหว่าง Killmonger วัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ ราวกลับว่าแท้จริงแล้ว…ข้างในลึกๆแล้ว…เขายังเป็นเด็กคนเดิมคนนั้นที่ถูกทอดทิ้งให้เผชิญโลกอันโหดร้ายตามลำพัง…เขายังเป็นเด็กที่โหยหาบ้านที่แท้จริงของเขาอยู่ (“A kid from Oakland walking around and believing in fairytales.”) แต่ไม่ว่าเขาจะเดินทางไปที่ใด เขาและพ่อของเขาจะยังคงติดอยู่ในอพาร์ทเม้นท์นั้นในเมือง Oakland ตลอดไป  ราวกับว่า “พันธนาการ” ของ Killmonger และของคนชนชาติเดียวกับเขาไม่ใช่เป็นอะไรที่สลัดทิ้งกันได้อย่างง่ายดาย  Killmonger ไม่ใช่เป็นแค่ตัวละครที่สะท้อนถึงความโกรธแค้นและความเจ็บปวดของชายหนุ่มแอฟริกัน-อเมริกันหลายคนที่ถูกทอดทิ้งและถูกฆ่าล้างในอเมริกามาหลายชั่วอายุคนอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวละครที่ทำให้เราเห็นถึงความแตกหักที่เกิดขึ้นเมื่อ “ตัวตน” ของคนๆ หนึ่งได้ถูกลักขโมยหรือถูกทำลายไป

Killmonger และ T’Challa: “สองด้านของเหรียญอันเดียวกัน”

แม้แต่เราจะไม่เห็นด้วยกับวิธีการและความโหดร้ายของ Killmonger เขาก็เป็นหนึ่งใน “วายร้าย” ที่น่าสนใจที่สุดของ Marvel เพราะสิ่งที่เขาพูดมีความเป็นจริงอยู่ไม่น้อย คนผิวดำในโลกกำลังทุกข์ทนทรมานอยู่จริง ทำไม Wakanda ไม่ให้ความช่วยเหลือ? และผู้คนที่โดนกดขี่ข่มเหงจะเอาชนะทรราชด้วยสันติสุขได้อย่างไร ถ้าหากทรราชใช้ความรุนแรงเพื่อกดขี่ข่มเหงพวกเขา? อะไรคือวิธีการปฎิวัติที่จะนำความสำเร็จผลได้มากที่สุด? Chadwick Boseman บอกว่า Killmonger และ T’Challa คือ “สองด้านของเหรียญอันเดียวกัน” (“Two sides of the same coin”) Michael B. Jordan เปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่าง T’Challa และ Killmonger กับความสัมพันธ์ระหว่างศาสตราจารย์ Charles Xavier และ Magneto ในหนัง X-Men ทั้งสองคนต้องการสิ่งเดียวกัน ต้องการช่วยเหลือคนของพวกเขาเหมือนกัน… เพียงแค่พวกเขามีวีธีช่วยและอุดมการณ์ที่แตกต่างกันเท่านั้น

นักวิชาการหลายคนได้เปรียบเทียบอุดมการณ์ของ T’Challa และ Killmonger กับอุดมการณ์ของ Martin Luther King Jr. และ Malcolm X ซึ่งเป็นอุดมการณ์ที่ชาวแอฟริกัน-อเมริกันถกเถียงกันเองมานานหลายปี หลายคนมักเข้าใจว่า อุดมการณ์ของ MLK คือ การประท้วงโดยไม่ใช่ความรุนแรง ในขณะที่อุดมการณ์ของ Malcolm X คือ ความเชื่อที่ว่า การเปลี่ยนแปลงไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากปราศจากความรุนแรง แต่ถ้าหากศึกษาอย่างแท้จริงแล้ว อุดมการณ์ของทั้งสองคนมีความซับซ้อนและลึกซึ้งกว่านั้นมาก และมีความคล้ายคลึงกันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีก่อนที่ Malcolm X จะโดนสังหาร ตามที่ Ryan Coogler พูดเอง “พวกเขามีความคล้ายคลึงกันมากกว่าที่หลายคนคิด” และเป็น “สองด้านของเหรียญอันเดียวกัน”

สุดท้ายแล้ว T’Challa และ Killmonger ต้องการกันและกัน และจำเป็นต้องเรียนรู้จากกันและกัน  Killmonger เป็น “วายร้าย” ที่ “เปลี่ยน” ฮีโร่ของเรื่อง ตามที่ Ryan Coogler อธิบาย T’Challa ไม่สามารถเป็น Black Panther หรือเป็นกษัตริย์ที่เขาควรจะเป็นได้หากปราศจาก Killmonger  ในตอนเริ่มต้นของหนัง T’Challa เป็นเจ้าชายที่เติบโตขึ้นในครอบครัวที่เต็มไปด้วยความรักและสิทธิประโยชน์ เขาไม่เคยคิดจะแตกแยกจากกฎเกณฑ์เดิมๆและตั้งใจจะซ่อนเร้นประเทศ Wakanda ต่อไปถึงแม้ว่าจะมีคนอื่นในโลกซึ่งต้องการความช่วยเหลือจากเขา  แม้กระทั่ง Nakia เองก็ไม่สามารถเปลี่ยนใจเขาได้  จนกระทั่งเขาได้รับรู้ความจริงว่า Killmonger เป็นผลจากความผิดผลาดของพ่อของเขา (กษัตริย์​ T’Chaka)… จนกระทั่งเขาได้พบเจอและสัมผัสถึงความเจ็บปวดของ Killmonger ด้วยตนเอง… เขาถึงจะตัดสินใจเปิดประเทศ Wakanda และยื่นมือ​ “สร้างสะพาน” เพื่อช่วยแก้ไขสถานกาณ์วิกฤติในโลก

ดังนั้น…มันจึงมีความสวยงามอยู่ไม่น้อย…ที่ยี่สิบหกปีหลังจากกษัตริย์ T’Chaka ทอดทิ้งหลานชายของตนเองไว้ที่อเมริกา  T’Challa จะกลับมาที่เมือง Oakland พร้อมด้วยความหวังสำหรับอนาคตที่ดีกว่าเดิม  สุดท้ายแล้ว T’Challa ไม่สามารถช่วยชีวิต Killmonger ได้ แต่เขาสามารถช่วยชีวิตเด็กคนอื่นๆ ที่กำลังเติบโตขึ้นในสภาพแวดล้อมที่สร้าง Killmonger ขึ้นมาได้ 

ความสำเร็จของ Black Panther มีความหมายมากขนาดไหน?

ภาพที่เรามองเห็นในหนังหรือในทีวีมีผลกระทบต่อมุมมองที่เรามีต่อคนอื่นและต่อตนเอง  Hollywood มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ชายฝรั่งผิวขาวเป็นหลัก ในขณะที่ผู้หญิงและชาวผิวสี (ชาวแอฟริกัน แอฟริกัน-อเมริกัน เอเชีย เอเชีย-อเมริกัน ลาติโน ฯลฯ) มักถูกนำเสนอเป็นตัวละครเล็กๆน้อยๆที่ไม่มีมิติ เรื่องราวของพวกเขามักถูกเล่าผ่านมุมมองของฝรั่งผิวขาว ทำให้ “ภาพ” ที่ออกมาผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงอยู่มาก หนึ่งในความเชื่อที่เก่าแก่ที่สุดใน Hollywood คือ ไม่มีใครอยากดูหนังเก่ียวกับผู้หญิงและชาวผิวสี และหนังเหล่านี้ทำเงินไม่ได้ทั้งในและนอกประเทศอเมริกา “ทฤษฎี” ที่ว่านี้ถูกใช้เป็นข้ออ้างมานานหลายปีจนทำให้ Hollywood กลายเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงและชาวผิวสีมีสิทธิมีเสียงมากเท่าใดนัก นักแสดงหญิง Viola Davis จึงได้กล่าวว่า “สิ่งที่แตกต่างระหว่างผู้หญิงผิวสีและคนอื่นๆ คือ โอกาสที่เราได้รับ” (“The only thing that separates women of colour from anyone else is opportunity.”)

 From @virtuouswoman88

ในไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ movement อย่าง #OscarsSoWhite กำลังเริ่มบทสนทนาใน Hollywood และผลักดันให้สตูดิโอหนังเปิดโอกาสให้นักแสดงและผู้กำกับหญิงและชาวผิวสีมากขึ้น ความสำเร็จของหนังอย่าง Wonder Woman และ Girls Trip ทำลาย “ทฤษฎี” อันไร้สาระที่ว่าหนังเกี่ยวกับผู้หญิงทำเงินไม่ได้ ในขณะที่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่มากขึ้นไปอีกของ Black Panther กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เราไม่เคยพบเห็นมาก่อน  Black Panther ทำลายความคาดหมายและเปิดตัวที่อเมริกาสูงเป็นอันดับที่ห้าในประวัติศาสตร์ โดยตามหลังแค่ Force Awakens, The Last Jedi, Jurassic World และ The Avengers เท่านั้น! ภายในสี่วัน Black Panther ทำเงินได้มากกว่ารายได้ทั้งหมดของ Justice League เสียอีก! นอกประเทศอเมริกา Black Panther ทำเงินมากกว่าที่คาด และกำลังโกยรายได้มากกว่าหนังอย่าง Doctor Strange, Guardians of the Galaxy: Vol 2 และ Thor: Ragnarok! Black Panther กำลังสร้างประวัติศาสตร์ถึงขนาดที่ว่าผู้กำกับ Ryan Coogler ต้องออกจดหมายขอบคุณคนดูทุกคนอย่างซาบซึ้ง!

ตัวเลขของ Black Panther แสดงให้เราเห็นว่า ผู้ชมทั่วโลกต้องการเห็นหนังจากมุมมองใหม่ๆ และจากนักแสดงหน้าใหม่ๆ พวกเราต้องการเห็นหนัง Hollywood ที่สะท้อนโลกของเราในศตวรรษที่ 21 และพวกเราต้องการเห็น “ภาพ” ที่สะท้อนความเป็นจริงและทำให้พวกเรามีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของเรา  เราได้แต่หวังว่า ความสำเร็จของ Black Panther (รวมทั้ง Wonder Woman) จะช่วยจุดชนวนให้สตูดิโอใหญ่ๆ สนับสนุนหนังแนวนี้เพิ่มมากขึ้น (ในปี 2018 Crazy Rich Asians จะเป็นหนังสตูดิโอ Hollywood เรื่องแรกที่มีแต่นักแสดงเอเชียเป็นส่วนใหญ่ และกำกับโดยผู้กำกับชาวเอเชีย) ในโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการยอมรับ เข้าใจและชื่มชมสิ่งที่ทำให้พวกเราทุกคนแตกต่างจากกันและกัน ตามที่ T’Challa ได้พูดไว้ “พวกเราต้องหาวิธีดูแลกันและกันประหนึ่งว่าเราเป็นชนเผ่าเดียวกัน” (“We must find a way to look after one another as if we were one single tribe.”)


ข้อมูลเพิ่มเติม (เป็นภาษาอังกฤษ)

Leave a Comment

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s